สรุปทุกสิ่งที่ควรรู้ ก่อนเริ่มเขียน ‘Motivational Letter’ เอกสารสำคัญเพื่อขอทุน & สมัครงาน

เพราะในการสมัครเรียนต่อ สมัครขอทุนการศึกษา หรือแม้กระทั่งสมัครเข้าทำงาน ‘จดหมายสร้างแรงบันดาลใจ’ หรือ ‘Motivational Letter‘ คือสิ่งสำคัญ! แต่มันก็อาจทำให้คุณยอมแพ้ได้ง่ายๆ เช่นกัน

เชื่อว่าหลายคนคงพบเจอปัญหาที่ไม่สามารถจะเขียนเล่าเรื่องราวประสบการณ์ และความสำเร็จของตนเองลงใน Motivational Letter ได้ วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับรูปแบบของการเขียนจดหมายมาฝาก ไปดูกัน!

 

 

Motivational Letter คืออะไร?

หรือรู้จักกันดีในชื่อ ‘Motivation Letter’ หรือ ‘จดหมายสร้างแรงบันดาลใจ’ คือจดหมายหน้าเดียวที่ใช้อธิบายและสนับสนุนเหตุผลว่าทำไมคุณคือผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบ โดยปกติแล้วจะส่ง Motivational Letter พร้อมกับประวัติย่อ (CV)

ส่วนใหญ่ผู้สมัครจะต้องส่ง Motivational Letter ใน 4 สถานการณ์ ดังนี้

– สมัครเข้าศึกษาต่อที่สถาบันการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือสูงกว่าปริญญาตรี

– สมัครเข้าทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

– สมัครเป็นอาสาสมัครในองค์กร

– สมัครฝึกงานในบริษัทแห่งหนึ่ง

 

 

บอกเลยว่า Motivational Letter นั้นแตกต่างกับ CV อย่างแน่นอน เพราะ CV ถือเป็นการแนะนำประวัติย่อให้ทางองค์กรรู้ประวัติเบื้องต้นของผู้สมัคร

ในขณะที่ Motivational Letter เปรียบได้กับใบปิดการขายที่ควรมีประสิทธิภาพ ควรแสดงถึงแรงจูงใจกับทุกสิ่งที่คุณกำลังทำ เพราะมันสามารถเปลี่ยนเกมได้อย่างแท้จริง!

 

 

รูปแบบการเขียน Motivational Letter

จดหมายสร้างแรงบันดาลใจทีดีนั้นต้องมีหน้าเดียว พร้อมเนื้อหาแนะนำตัวและเรื่องราวของผู้สมัคร รวมถึงแสดงความสนใจในตำแหน่งหรือองค์กรที่คุณสมัครด้วย

โดยรูปแบบในการเขียนนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

1. รูปแบบย่อหน้าหลัก 3 ย่อหน้า ประกอบไปด้วยบทนำ (Introduction), เนื้อหา (Body) และข้อสรุป (Conclusion)

2. รูปแบบ 5-7 ย่อหน้า โดยแบ่งส่วนเนื้อหาออกเป็น 1-3 ย่อหน้าตามประเด็นหลักที่จะพูดถึง

 

 

ทั้ง 2 รูปแบบนั้นมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน โดยหากอยากได้รูปแบบ Motivational Letter ที่เป็นข้อเท็จจริง และตรงประเด็น ควรใช้รูปแบบที่ 2 คือแบบ 5-7 ย่อหน้า

ด้วยวิธีนี้ผู้เขียนจะสามารถเนื้อหาของแต่ละย่อหน้าเพื่ออธิบายเกี่ยวกับความสำเร็จ หรือประเด็นต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น

ในทางกลับกัน หากต้องการรูปแบบในเชิงเล่าเรื่อง ควรเลือกรูปแบบที่ 1 หรือรูปแบบย่อหน้าหลัก 3 ย่อหน้า เพื่อให้เขียนได้อย่างลื่นไหล อ่านง่าย และเรื่องราวไม่สะดุด เป็นต้น

 

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกรูปแบบใดก็ตาม โปรดจำไว้ว่า Motivational Letter ที่ดีต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ

1. บทนำ (Introduction): สำนวนสั้นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวคุณ และเหตุผลที่คุณสมัคร ควรมีข้อมูลดังนี้

– ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลติดต่อ

– สมัครงานตำแหน่งอะไร และที่ไหน

– เหตุผลทั่วไปว่าทำไมถึงสมัคร

 

 

2. เนื้อหา (Body): เป็นส่วนสำคัญที่ต้องขายตัวเองให้ได้! โดยเฉพาะเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จ ทักษะ และความหลงใหลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สมัคร ตัวอย่างประโยคดังนี้

– My passion for ______ started when ______.

– I want to ______ because ______.

– I have been part of _________ for ___ months/years. It’s the best thing for me because _______.

– I remember once when I ________, which made me realize that I _______.

– _______ resonates with me because _________.

– What distinguishes me from my peers is __________.

 

 

3. ข้อสรุป (Conclusion): สุดท้ายคือต้องสรุปทุกอย่างที่เขียนมาให้ได้ใจความ เช่น

– สรุปประโยคสั้นๆ – “I believe I’d be a good fit for the program because of __________”

– พูดถึงเป้าหมายที่ครอบคลุม – “I’d love to be a part of _______, as it would allow me to ___________.”

– เขียนขอบคุณผู้อ่าน และสรุปจดหมายสร้างแรงบันดาลใจ

 

 

เชื่อว่าเหล่านี้คือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สายหางานและสายหาทุนต้องห้ามพลาด!! รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมเตรียมตัวให้เต็มที่ล่ะ แล้วตำแหน่งงานในฝันและทุนจากมหาวิทยาลัยในฝัน จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม :)

 

ที่มา: novoresume

ร่วมแสดงความคิดเห็นกันจ้า...

ทุนการศึกษาอื่นๆที่น่าสนใจ